เมื่อไหร่นะที่จะต้องพาลูกน้อยไปพบหมอฟันเด็ก

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักมีความสงสัยว่า เมื่อไหร่นะที่จะต้องพาลูกน้อยไปพบหมอฟันเด็ก ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า เด็กที่เริ่มมีฟันขึ้นใหม่ๆ นั้นก็ยังไม่มีปัญหาเรื่องฟันผุจึงไม่จำเป็นต้องไปหาหมอฟันเด็ก แต่แท้ที่จริงแล้วการพบหมอฟันเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ฟันมีปัญหา เพราะเด็กๆ ควรได้รับการดูแลพื้นฐานสุขภาพฟัน เพื่อป้องกันและการมีสุขภาพฟันที่ดีตั้งแต่การเริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรก

ตั้งแต่แรกคลอด คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ผ้าชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดช่องปากให้กับเด็ก และควรพาเด็กๆ มาพบหมอฟันครั้งแรกตั้งแต่ฟันน้ำนมแรกขึ้น หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน 6 เดือนหลังฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น โดยหมอฟันเด็กเฉพาะทางสำหรับเด็กจะให้การดูแล และให้คำแนะนำต่างๆ เช่น

  • การทำความสะอาดฟัน กระพุ้งแก้ม ลิ้น สันเหงือก
  • เทคนิคการแปรงฟันที่ถูกวิธีในเด็กแต่ละช่วงอายุ โดยเมื่อมีฟันน้ำนมขึ้น แนะนำให้ใช้แปรงสีฟันขนนิ่มสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน -3 ปี ที่มีหน้าตัดตรง โดยคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้แปรงฟันให้เด็กในท่าที่เด็กนอนตัก
  • รู้จักลำดับการขึ้นของฟันน้ำนม ปัญหาต่างๆ และการป้องกัน
  • การเลือกใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และวิธีที่ถูกต้องในการใช้
  • แนะนำการเคลือบฟลูออไรด์สำหรับเด็กเพื่อป้องกันฟันผุ
  • ในกรณีที่ฟันซี่ใดมีความเสี่ยงต่อการผุสูง คุณหมออาจแนะนำการเคลือบหลุมร่องฟันให้ด้วย

หมอฟันเด็กจะตรวจและรักษาฟันอย่างไร เด็กจะเจ็บและกลัวไหม?

ครั้งแรกที่เด็กได้พบทันตแพทย์ คุณหมอจะเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้เด็กรู้จักเครื่องมือและการดูแลฟันแบบง่ายๆ ที่ไม่เจ็บและไม่ชับซ้อน เช่น บอกถึงการตรวจฟันและทำการตรวจ สอนการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันให้ผู้ปกครองและเด็กทราบ ทำการเคลือบฟลูออไรด์ จากนั้นจะค่อยๆ ไล่ลำดับไปถึงการรักษาฟันที่ซับซ้อนหรือยากขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ไม่กลัว และมีทัศนคติที่ดีในการดูแลฟัน

ทันตกรรมสำหรับเด็กประกอบด้วยอะไรบ้าง

  • การให้บริการรักษาฟัน รวมถึงหมอฟันเด็กให้คำแนะนำในเรื่องการดูแลและการทำความสะอาดช่องปากและฟันของเด็กในแต่ละช่วงอายุ
  • การป้องกันฟันผุทั้งในฟันน้ำนมและฟันแท้ โดยการเคลือบฟลูออไรด์ และการเคลือบหลุมร่องฟัน
  • การรักษาฟันที่มีรอยผุ ทั้งในฟันน้ำนมและฟันแท้ เช่น การอุดฟัน การรักษารากฟัน การครอบฟัน การถอนฟัน การใส่เครื่องมือกันฟันล้ม